วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

เผยแพร่งานวิจัยในชั้นเรียน

ชื่องานวิจัย       รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ 

                    โจทย์ปัญหาร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องการแจกแจงทวินาม 

                    รหัสวิชา ค33202 รายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม

                    ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/7 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563

ชื่อผู้วิจัย                นางสาววรารัตน์  แสงสุข

ตำแหน่ง                 ครู

กลุ่มสาระการเรียนรู้    คณิตศาสตร์

ปีที่ทำวิจัย               ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา  2563  

 

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์  เรื่องการแจกแจงทวินาม ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ชุดฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา

การวิจัยดำเนินการโดยใช้รูปแบบ one group pretest posttest design กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/7 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 43 คน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาเรื่องการแจกแจงทวินาม และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการแจกแจงทวินามแบบอัตนัย จำนวน 10 ข้อ  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยทำการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการแจกแจงทวินาม ก่อนเรียน แล้วดำเนินการสอนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา จากนั้นทำการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน    เรื่องการแจกแจงทวินามหลังเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคะแนนเพิ่มสัมพัทธ์ (ร้อยละพัฒนาการ)

ผลการวิจัย พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการแจกแจงทวินาม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/7 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า ก่อนเรียนและหลังเรียนมีคะแนนพัฒนาการ ร้อยละ 47.96

 

 




วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เผยแพร่งานวิจัยในชั้นเรียน

ชื่องานวิจัย              รายงานการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วย

                          แบบฝึกพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาเรื่องการแจกแจงปกติ

                          รหัสวิชา 33204 รายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติมของนักเรียน

                          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562

ชื่อผู้วิจัย                นางสาววรารัตน์  แสงสุข

ตำแหน่ง                 ครูชำนาญการ

กลุ่มสาระการเรียนรู้    คณิตศาสตร์

ปีที่ทำวิจัย               ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา  2562  

 

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จากการเรียนด้วยแบบฝึกพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาเรื่องการแจกแจงปกติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า

การวิจัยดำเนินการโดยใช้รูปแบบ one-group posttest only design กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร  ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบฝึกพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาเรื่องการแจกแจงปกติ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการแจกแจงปกติแบบอัตนัย จำนวน 8 ข้อ  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการแจกแจงปกติหลังเรียน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย   และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัย พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาเรื่องการแจกแจงปกติมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไปของคะแนนเต็มเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

 


วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ลำดับเลขคณิต


                        การสมมติเพื่อหาลำดับเลขคณิต สำหรับโจทย์ผลบวกลำดับเลขคณิต k พจน์

เมื่อ k เป็นจำนวนคี่ เช่น

            K = 3    ให้ลำดับมีรูปแบบเป็น                               _____    _____    ____

            K = 5    ให้ลำดับมีรูปแบบเป็น               _____    _____    _____   ______    _____

เมื่อ k เป็นจำนวนคู่ เช่น

            K = 4    ให้ลำดับมีรูปแบบเป็น                     _____    _____    _____    _____

1. ถ้าผลบวก 3 พจน์ที่เรียงกันเป็นลำดับเลขคณิตเป็น 27 และผลบวกของกำลังสองของแต่ละพจน์เป็น 293จงหาลำดับเลขคณิตชุดนี้

 

 

 

 

 

2. เลข 3 จำนวนเรียงกันเป็นลำดับเลขคณิต ถ้าผลบวกของ 3 จำนวนนี้ เป็น 12 และผลบวกกำลัง 2 ของแต่ละจำนวนเป็น 66 แล้ว จงหาเลข 3 จำนวนนี้

 

 

 

 

 

3. ผลบวก 4 พจน์แรกที่เรียงกันในลำดับเลขคณิตเป็น 20 และผลบวกของกำลังสองของทุกพจน์เป็น 180 จงหาลำดับเลขคณิตชุดนี้

 

 

 

 

 

 

4. ถ้าผลบวก 4 พจน์ที่เรียงกันเป็นลำดับเลขคณิตคือ 40 และผลบวกของผลคูณระหว่างจำนวนน้อยที่สุดกับจำนวนที่มากที่สุด รวมกับผลคูณของ 2 พจน์ที่เหลือ เป็น 160 จงหาค่าสัมบูรณ์ของผลต่างของพจน์แรกและพจน์สุดท้ายคือเท่าใด

 

 

 

                                                                                       

                                                                         

สถิติและข้อมูล

สถิติและข้อมูล

ความหมายของสถิติ

คำว่า สถิติ (Statistics) มาจากภาษาเยอรมันว่า Statistic มีรากศัพท์มาจาก Stat หมายถึง ข้อมูล หรือ สารสนเทศ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ต่อการบริหารประเทศในด้านต่างๆ เช่น การทำสำมะโนครัว เพื่อทราบพลเมืองในประเทศทั้งหมด

ต่อมา สถิติ หมายถึงตัวเลขหรือข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวม เช่น จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน

อัตราการเกิดของเด็กทารก ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี อาชีพที่นักเรียนม.6 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า สนใจ สถิติในความหมายนี้ เรียกว่า ข้อมูลทางสถิติ (Statistical data) ซึ่งหมายถึง ข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลขหรือไม่เป็นตัวเลขก็ได้ ซึ่งต้องมีจำนวนมากและเก็บรวบรวมมาเพื่อสามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบหรือตีความหมาย

อีกความหมายหนึ่ง สถิติ หมายถึงศาสตร์ที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะที่ว่าด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล การนำเสนอข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการตีความหมายข้อมูล

ประเภทของการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) เป็นสถิติที่ใช้อธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถอ้างอิงไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้ สถิติที่อยู่ในประเภทนี้ เช่นค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย ฯลฯ สถิติเชิงพรรณนาจึงประกอบด้วย

±การนำเสนอข้อมูลโดยวิธีต่างๆ เช่น ตาราง แผนภูมิแท่ง แผนภูมิรูปวงกลม กราฟเส้น

±ค่าวัดแนวโน้มสู่ศูนย์กลาง เช่น ค่าเฉลี่ยเลขคณิต มัธยฐาน ฐานนิยม

±การวัดการกระจาย เช่น พิสัย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนเบี่ยงเบนเฉลี่ย ค่ามาตรฐาน

2. สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) เป็นสถิติที่ใช้อธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มแล้วสามารถอ้างอิงไปยังกลุ่มประชากรได้ โดยกลุ่มที่นำมาศึกษาจะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร (เรียกว่ากลุ่มตัวอย่าง) ได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง เช่นโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีนักเรียนม.6 จำนวน 300 คน ถ้าครูคนหนึ่งต้องการทราบน้ำหนักเฉลี่ยของนักเรียนทั้งหมด แต่ถ้าครูคนนี้ใช้สถิติมาอ้างอิงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องชั่งน้ำหนักนักเรียนทั้ง 300 คน เพียงแค่สุ่มกลุ่มตัวอย่างของนักเรียนมาจำนวนหนึ่ง เช่นสุ่มนักเรียนมา 100 คน ชั่งน้ำหนักแล้วหาค่าเฉลี่ย สมมติว่าได้ 40 กิโลกรัม ครูก็สามารถสรุปผลด้างอิงไปถึงนักเรียนทั้ง 300 คนได้)    (นักเรียนคิดว่าน้ำหนักที่ได้สมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร????????????)

ความหมายของคำต่างๆ ที่ใช้ในวิชาสถิติ

ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงต่างๆซึ่งอาจเป็นตัวเลขหรือไม่เป็นตัวเลขก็ได้ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราสนใจ

        การจำแนกข้อมูลโดยใช้เกณฑ์มี 2 ประเด็นคือ 1.ใช้เกณฑ์ลักษณะของข้อมูล 2.ใช้เกณฑ์ของแหล่งที่มาของข้อมูล

            1.ใช้เกณฑ์ลักษณะของข้อมูล จะแบ่งข้อมูลได้ 2 ลักษณะคือ

            1.1 ข้อมูลเชิงปริมาณ หมายถึง ข้อมูลที่ใช้แทนขนาดหรือปริมาณ ซึ่งวัดออกมาเป็นค่าของตัวเลขที่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ เช่น คะแนนสอบ อายุ ความสูง น้ำหนัก รายได้ เป็นต้น

            1.2 ข้อมูลเชิงคุณภาพ หมายถึง ข้อมูลที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่จะอธิบายในเชิงคุณภาพได้ เช่น

เพศ ศาสนา สัญชาติ ระดับการศึกษา อาชีพ ทะเบียนรถ ข้อมูลเชิงคุณภาพบางลักษณะสามารถวัดเป็นลำดับที่ได้ เช่น ระดับความพึงพอใจ ระดับความคิดเห็น (เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย เฉยๆ ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง) เป็นต้น

2.ใช้เกณฑ์ของแหล่งที่มาของข้อมูลจะแบ่งข้อมูลเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 ข้อมูลปฐมภูมิ คือ ข้อมูลซึ่งได้รับจากผู้ให้ข้อมูลโดยตรง เป็นข้อมูลที่ผู้รวบรวมข้อมูลทำการรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ข้อมูลปฐมภูมิได้จากการรวบรวมข้อมูล โดยวิธีการต่างๆ เช่น

- การสัมภาษณ์ เป็นการที่ผู้รวบรวมข้อมูลถามคำถามจากผู้ให้ข้อมูลโดยตรง ข้อมูลจึงเป็นคำตอบที่ผู้ให้ข้อมูลตอบออกมา อาจเป็นการสัมภาษณ์โดยตรงหรือการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ก็ได้ วิธีนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะได้รับคำตอบกลับคืนมามากที่สุด ข้อดีของวิธีนี้ คือถ้าผู้ให้ข้อมูลไม่เข้าใจคำถามสามารถสอบถามจากผู้รวบรวมข้อมูลได้ ข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายสูง

- การใช้แบบสอบถาม เป็น การที่ผู้รวบรวมข้อมูลสร้างแบบสอบถามซึ่งการตอบนั้น ทำให้ได้รับข้อมูลที่ต้องการ อาจเป็นการใช้แบบสอบถามโดยตรง หรือการใช้แบบสอบถามทางไปรษณีย์ ข้อดีของวิธีนี้ คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย ข้อเสียคือ กรณีส่งทางไปรษณีย์ ถ้าผู้ให้ข้อมูลไม่เข้าใจคำถาม จะไม่สามารถถามจากผู้รวบรวมข้อมูลได้ และแบบสอบถามที่ส่งไปบางส่วนอาจไม่ได้รับคืน

- การทดลอง เป็น การที่ผู้รวบรวมข้อมูลลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ การทดลองจึงมักเป็นการรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ข้อดีของวิธีนี้ คือ ข้อมูลที่ได้รับมีค่าความน่าเชื่อถือมากที่สุด ข้อเสียนี้คือ การทดลองมีความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุม เพื่อให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ

- การสังเกต เป็น การที่ผู้รวบรวมข้อมูลสังเกตและบันทึกข้อมูล การรวบรวมข้อมูลวิธีนี้มักใช้ร่วมกับการรวบรวมข้อมูลวิธีอื่นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูล สามารถทำได้ 2 รูปแบบ

2.1.1 การทำสำมะโน หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกๆหน่วยของประชากร จึงเป็นการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก จึงไม่ค่อยนิยมในทางปฏิบัติ เช่น การทำสำมะโนประชากรไทย (พ.ศ.2553/____ และจัดเก็บทุกๆ __ ปี)

2.1.2 การสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากบางหน่วย ที่เลือกมาเป็นตัวแทนจากทุกๆหน่วยของประชากร เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลจากประชากรได้ทั้งหมด ซึ่งจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก

2.2 ข้อมูลทุติยภูมิ เป็น ข้อมูลซึ่งได้จากผู้อื่นรวบรวมไว้แล้ว เช่น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต รายงานของหน่วยงานเอกชนหรือองค์กรต่างๆซึ่งมักจะเผยแพร่เป็นรายวัน รายเดือน หรือรายปี ข้อมูลความคิดเห็นจากสำนักโพลต่างๆ เป็นต้น

 

ประชากร หมายถึง กลุ่มของสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการศึกษาทั้งหมด เช่น

- ถ้าเราสนใจเกี่ยวกับรายได้ของคนไทย ประชากร คือ คนไทยทั้งหมดที่มีรายได้

- ถ้าเราสนใจเกี่ยวกับการเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า

ประชากร คือ ________________________ทั้งหมด

ดังนั้น ประชากรจึงเปรียบเสมือนกับเอกภพสัมพันธ์ในเซตที่เราศึกษา

กลุ่มตัวอย่าง หรือตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชากร การมีกลุ่มตัวอย่างเพราะในบางครั้ง ประชากรที่เราต้องการศึกษามีจำนวนมาก  แต่เราต้องการศึกษาบางประเด็นเกี่ยวกับประชากรกลุ่มนี้ ดังนั้นในทางปฏิบัติ  เราไม่สะดวกที่จะศึกษาประชากรทั้งหมด จึงมีการเลือกประชากรบางส่วนมาศึกษาเพื่อหาข้อสรุปทั้งหมดของกลุ่มประชากรโดยใช้เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่าง เพื่อหาข้อมูลสรุปประเด็นปัญหาดังกล่าว และส่วนที่เราเลือกมา เรียกว่า ตัวอย่างหรือกลุ่มตัวอย่าง

ค่าพารามิเตอร์ หมายถึง ค่าต่างๆ ที่แสดงถึงลักษณะของประชากรซึ่งค่าต่างๆ ดังกล่าวได้มาจากการนำข้อมูลจากประชากรมาคำนวณ เช่น รายได้ของคนไทยในปี พ..2560 โดยเฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 6,500 บาทในลักษณะ

นี้ค่าพารามิเตอร์ คือ 6,500 บาท ในบางครั้งไม่สามารถหาค่าพารามิเตอร์ได้ เพราะประชากรมีจำนวนมากเกินไป หรือไม่สามารถหาค่าพารามิเตอร์จากประชากรได้โดยตรง อาจจะหาได้จากค่าข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแล้วมาอ้างอิงกลุ่มประชากร โดยใช้สถิติขั้นสูงมาช่วยในการวิเคราะห์ก็ได้ ซึ่งค่าที่ได้มีความคลาดเคลื่อนไม่มากนัก

ค่าสถิติ คือ ค่าต่างๆ ที่แสดงถึงลักษณะต่างๆ โดยภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งค่าสถิติคำนวณมาจากข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง ค่าที่ได้มา จะเป็นค่าที่ใกล้เคียงกับค่าพารามิเตอร์ เหมาะสมที่จะนำไปอธิบายลักษณะของประชากร และ เรียกค่าที่ได้มานี้ว่า ค่าสถิติ


วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ขนมลูกชุบ




ขนมไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากมายไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ  หลายคนอาจจะคิดว่าการทำขนมไทยดูยุ่งยาก วันนี้ดิฉันจะขอนำเสนอวิธีการทำขนมไทยที่ง่ายๆอย่างเช่น ขนมลูกชุบ กันค่ะ

ส่วนผสมของลูกชุบมีดังนี้

1.ถั่วเหลือง
2.น้ำตาล
3.กระทิ
4.สีผสมอาหาร
5.ไม้แหลม
6.โฟม
7.น้ำเปล่า
8.พู่กัน
9.ผงวุ้น
10.กลิ่นมะลิ

วิธีการทำ

1.นำถั่วเหลือง น้ำตาล และกะทิมาปั่น หลังจากนั้นนำไปเคี่ยวให้เป็นเนื้อเดียวกัน
2.นำถั่วเหลืองมาปั้นเป็นรูปต่างๆ
3.นำถั่วเหลืองที่ปั้นเสร็จแล้วไปทาสีผสมอาหาร แล้วนำมาเสียบกับไม้แหลม หลังจากนั้นเอาไปปักที่โฟม รอให้สีแห้ง
4.ระหว่างรอให้สีแห้ง นำผงวุ้น น้ำเปล่า และกลิ่นมะลิ มาผสมให้เข้ากัน
5.เมื่อสีที่ทาแห้งแล้ว นำมาชุบกับวุ้นที่เตรียมไว้ แล้วนำมาปักไว้ที่โฟม (อาจจะชุบหลายครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจ)
6.รอจนแห้ง แล้วนำมารับประทาน

การทำขนมลูกชุบนั้น ผู้อ่านสามารถนำมาทำเองง่ายๆที่บ้านด้วยส่วนผสมและวิธีการทำดังข้างต้นค่ะ หรืออาจเข้าไปดูวิธีการทำใน youtube จากลิ้งข้างล่างก็ได้นะค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

GSP กับ การเรียนรู้คณิตศาสตร์


โปรแกรม Geometer’s Sketchpad หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า" GSP" 


หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วนะค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่เคยรู้จักเจ้า GSP มาก่อนวันนี้มาทำความ

รู้จักกันค่ะ =======>>>   GSP     <<<=========>>>   ??????    <<<============

GSP....เป็นโปรแกรมคณิตศาสตร์ที่ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสามารถนำมาใช้ในวิชา

คณิตศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงของครูคณิตศาสตร์ โดยส่วนใหญ่

แล้วมักจะนำมาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับ เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ และแคลคูลัส  ดังภาพข้าง

ล่าง เป็นการสร้างรูปเรขาคณิตด้วยโปรแกรม GSP



ทรงกระบอก




ภาพที่เกิดจากการเลื่อนขนาน


GSP ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครูคณิตศาสตร์สามารถอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้กลายมา

เป็นรูปธรรมได้ซึ่งทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและเกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ทั้งนี้นักเรียนก็

ยังสามารถลงมือสร้างภาพได้เองอีกด้วยนอกจากนี้โปรแกรม GSP  ยังสามารถนำไปใช้ในการจัด

กิจกรรมการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ เป็นต้น


ผลงานสร้างสรรค์โดยโปรแกรม  The Geometer’s Sketchpad

หลายหน่วยงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้โปรแกรม GSP เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็น

ประโยชน์กับการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ในด้านอื่นๆอีกด้วย 



อย่างไรก็ตาม โปรแกรม GSP เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน หากครูไม่มีความ

พร้อมในการสอนหรือขาดความเข้าใจในการใช้โปรแกรมแล้วนั้น การเรียนการสอนก็คงจะไม่เกิด

ประโยชน์สูงสุด ดังนั้นหากผู้ใดสนใจจะนำโปรแกรม GSP นี้ไปใช้ก็ควรศึกษาวิธีการใช้ และฝึกใช้จน

ชำนาญก่อนนะค่ะ




วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รู้จักใช้...ชาติไทยเจริญ


มนุษย์เป็นสัตว์สังคมชอบรวมตัวกันเป็นกลุ่ม มีกิจกรรมให้เข้าร่วมกัน ในสมัยก่อนก่อนที่จะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ มนุษย์จะมีการติดต่อสื่อสารด้วยการพบปะพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่เมื่อมีการเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น มนุษย์จะเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่ม ส่วนวิธีการสื่อสารก็จะต้องผ่านเครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น กล่าวคือ การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มเริ่มน้อยลง

           

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีและสื่อต่างๆรอบตัวเรา  ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีผู้คนให้ความสนใจและความสำคัญ โดยจะคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้งาน จนมองข้ามผลเสียที่เกิดขึ้น


สื่อที่ทุกคนกำลังจับตามองคงหนีไม่พ้นเครื่องมือสื่อสารชนิดต่างๆ เช่น  i-Phone, i-Pad ,Tablet เป็นต้น เนื่องจากได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชีวิตเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น และแน่นอนด้วยสิ่งต่างๆที่เป็นเช่นนี้ส่งผลให้การดำเนินชีวิตย่อมเปลี่ยนไปด้วย จะเห็นได้จากการติดต่อสื่อสารในระยะทางไกลๆแค่เพียงไม่กี่วินาทีก็ติดต่อกันได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวสื่อจึงเข้ามาแทรกซึมการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มทุกวัยไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กเยาวชน


การมาของสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ จริงอยู่ที่มันมาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้า ความรวดเร็ว แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเมื่อมีสิ่งที่ดีแล้วก็ย่อมมีสิ่งที่ไม่ดีด้วย อันเนื่องมาจากวุฒิภาวะของผู้ที่ใช้สื่อ การเลือกรับสื่อ หากยังขาดสิ่งเหล่านนี้แล้ว ก็จะไม่มีใครคาดเดาผลเสียได้ว่ามันจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่หากเราใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ดีแล้วนั้นคุณประโยชน์ของมันก็นับว่ายังมีอยู่มาก ดังเช่น การนำเทคโนโลยีและสื่อต่างๆ มาใช้กับการศึกษา

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2556 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมการทำสื่อการสอนด้วยโปรแกรม AR และ โปรแกรม Aurasma บนคอมพิวเตอร์ และ มือถือ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดิฉันมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้ครูได้เรียนรู้วิธีการทำสื่อที่แปลกใหม่และที่สำคัญสิ่งที่ดิฉันรู้สึกสนุกมากคือเมื่อดิฉันสร้างสื่อเสร็จแล้วจะปรากฏเป็นรูป  3 มิติขึ้นมา แต่อุปสรรคในการอบรมครั้งนี้ของดิฉันก็มีค่ะคือ มือถือ เนื่องจากต้องใช้มือถือ เช่น i-Phone มาใช้ในการอบรมด้วย ซึ่งจะใช้กับโปรแกรม Aurasma เพื่อดูรูปภาพที่สร้างเสร็จแล้วค่ะ


โปรแกรมทั้ง 2 โปรแกรมนี้ ถ้าเราเข้าใจวิธีการใช้และวิธีการสร้างแล้วนั้น เราก็จะสามารถสร้างรูป 3 มิติขึ้นมาได้และจะได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก แต่เนื่องด้วยอุปสรรคที่กล่าวไปแล้วนั้นจึงทำให้ดิฉันเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ และด้วยเวลาที่จำกัดเพียงแค่ 1 วัน ดิฉันจึงได้ความรู้ไปยังไม่มากเท่าที่ควร

ดังนั้นดิฉันคิดว่าถ้าการศึกษาจะเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับเทคโนโลยีได้ ทุกคนจะต้องมีความพร้อม พร้อมทั้งเครื่องมือ  ความสามารถในการใช้เครื่องมือ  และวุฒิภาวะของผู้ใช้  ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยก็จะเป็นเพียงแค่ความฝัน

จะเห็นได้ว่า เครื่องมือสื่อสารมีความสำคัญต่อการศึกษาไม่แพ้หนังสือ หากผู้ใช้รู้จักใช้ และใช้ในทางที่ถูกที่ควรแล้ว เทคโนโลยีก็จะนำมาซึ่งคุณประโยชน์ และทำให้ประเทศชาติของเราเจริญก้าวหน้าต่อไป